วัดนันตาราม อ.เชียงคำ จ.พะเยา

        ออกตามล่าหาคิวปิด ขอพรกามเทพให้สมหวังในรัก ที่ วัดนันตาราม อันซีนแห่งเมืองเชียงคำ ตระการตามหาวิหารไม้สักทอง สถาปัตยกรรมพม่าสืบสานวัฒนธรรมที่ผสมผสานเรื่องราวของชาวปะโอ ไทใหญ่ ไทลื้อ และไทยวน

        วิหารไม้สักทั้งหลังอายุกว่าร้อยปี ลวดลายฉลุในแบบพุทธสถานสถาปัตยกรรมพม่าตอนล่าง หลังคาหน้าจั่วยกช่อชั้นลดหลั่นสวยงาม มุงด้วยไม้แป้นเกล็ด เพดานประดับประดากระจกสีลวดลายวิจิตรสุดตระการตาตามศิลปะแบบพม่ามัณฑะเลย์ มองภายนอก แบ่งออกเป็น 3 จอง โดยจองสูงสุด “จองพารา” เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปศิลปะพม่า จองหน้ามุขที่อยู่ต่ำสุด เรียก “จองตะก่า ผะก่ามะ” เป็นที่นั่งของฆราวาส ส่วนจองที่แยกไป เรียก “จองสังฆะ” เป็นกุฏิเจ้าอาวาส

        ความงามวัดพม่าที่เชียงคำ ถูกเล่าขานให้ผู้คนมุ่งมายลความงดงามด้วยสายตาตนเอง แม้วัดไม่ปรากฏว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด เดิมเรียก “จองม่าน” หรือ “จองคา” เพราะหลังคาวิหารมุงด้วยหญ้าคา แต่ใน ปี 2468 ได้มีพุทธศาสนิกชนชาวปะโอเข้ามาทำธุรกิจสัมปทานค้าไม้ในเชียงคำ เป็นผู้ทำนุบำรุง จากวิหารหญ้าคาจึงกลายเป็นวิหารงามขลัง ด้วยพลังแห่งศรัทธา ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 10 ปี

        และหากสังเกตให้ดี จะพบว่า ลวดลายเครือเถาของซุ้มเรือนแก้วด้านหลังองค์พระประธานที่แกะสลักจากไม้สักทอง นอกจากจะมีรูปแกะสลักเทวดาและสัตว์หิมพานต์แล้วในลายเครือเถายังมีรูปแกะสลัก “คิวปิด” กามเทพตัวน้อย ประดับอยู่ถึง 8 องค์